พฤกษศาสตร์ทั่วไป
วงศ์ (Family): Papilionaceae
จีนัส (Genus): Vigna
สปีชีส์ (Species): radiate
ชื่อสามัญ (Common name): ถั่วเขียวผิวมัน (mungbean, green gram) และ ถั่วเขียวผิวดำ(black gram)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): ถั่วเขียวผิวมัน (Vigna radiata (L) Wilczek) และ ถั่วเขียวผิวดำ (Vigna mungo (L) Hepper)
ราก
ถั่วเขียวมีระบบรากแบบรากแก้ว (tap root system) และมีรากแขนงมาก (secondary root หรือ lateral root)มาย รากแก้วหยั่งลึกแต่รากแขนงจะแตกออกจากส่วนบนใกล้ ๆ ผิวดิน ที่รากจะเป็นที่อาศัยของแบคทีเรีย Rhizobium sp.
ลำต้น
ลำต้นของถั่วเขียวพันธุ์เพาะปลูกเป็นพวกตั้งตรง ไม่ใช่เป็นเถาเลื้อย ต้นเป็นพุ่ม มีความสูงจากระดับดินถึงยอดของลำต้น 50-120 เซนติเมตร ปกติมีการแตกกิ่งก้านมากมายคืออาจมีกิ่งตั้งแต่3 ถึง 15 กิ่ง ทั้งนี้แล้วแต่ระยะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าปลูกห่างก็มีจำนวนกิ่งมาก ลำต้นมีสีเขียวมีขนเป็นจำนวนมาก
ใบ
ใบของถั่วเขียวเกิดเป็นกลุ่มที่เรียกว่าใบรวม (compound leaves) มีกลุ่มละ 3 ใบ (trifoliate leaves) ใบเกิดสลับกันบนลำต้น มีก้านใบรวม (petiole) ยาว ตรงโคนก้านใบรวมมีหูใบ (stipule) รูปไข่จำนวน 2 ใบ ใบย่อย (leaflet) ของถั่วเขียวจำนวน 3 ใบนั้น ใบกลางมีก้านใบ (petiolule) ยาว ที่ฐานของใบย่อยแต่ละใบมีหูใบย่อย (stipel) ใบละ 1 คู่ ใบของถั่วเขียวมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวจัด มีรูปไข่ (ovate) คือกว้างป้อมปลายเรียวเล็กน้อย ขนาดของใบกว้าง-ยาวราว 1.2-12 + 2-10 เซนติเมตร ตามก้านใบและบนใบมีขนสีขาวมากมาย
ช่อดอกและดอก
ดอกของถั่วเขียวเป็นดอกที่เกิดเป็นกลุ่ม (inflorescence) มีช่อดอกแบบ raceme เกิดจากตาระหว่างก้านใบและลำต้นหรือกิ่ง (axillary bud) กลุ่มละ 5-10 ดอก และเกิดที่ยอดของลำต้นหรือยอดของกิ่งที่ยอดของลำต้นอาจมี 10-20 ดอก ก้านของช่อดอก (peduncle) ยาวราว 2-13เซนติเมตร มีกลีบรอง (calyx) กลีบดอกมีสีเหลืองอมเขียวเป็นดอกแบบผีเสื้อมี standard 1 กลีบwing และ keel อย่างละ 2 กลีบ standard ซึ่งเป็นกลีบที่โตที่สุดของดอก มีความกว้าง 1-1.7เซนติเมตร ภายในกลีบดอกจะมีดอกตัวผู้ (stamen) 10 อัน จับกันแบบ diadelphous (9:1) เป็นกระเปาะห่อหุ้มดอกตัวเมีย (pistil)
ผลและเมล็ด
ฝักของถั่วเขียวมีสีเขียว เมื่อแก่ถึงเก็บเกี่ยวได้ มีสีเทาดำหรือน้ำตาล ฝักยาว 5-10เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของฝัก 0.4-0.6 เซนติเมตร ลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม มีขนสั้นทั่วไปบนฝัก แต่ละฝักมีเมล็ด 5-15 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก เมล็ดกลมหรือค่อนข้างกลม โดยทั่วไปมีสีเขียว แต่เมล็ดถั่วเขียวอาจมีสีอื่น ๆ ก็ได้แล้วแต่พันธุ์ เช่น สีเหลืองทอง เหลืองอมเขียวหรือสีดำ ขนาดของเมล็ดถั่วเขียวถ้าวัดเป็นน้ำหนักแล้วจะหนักราว 4-8 กรัม/100 เมล็ด
ถั่วเขียวเป็นพืชผสมตัวเอง (self-pollinated) ละอองเกสรจะโปรยเวลา 21.00 - 03.00น. และดอกที่ผสมแล้วจะบานในวันรุ่งขึ้น และกลีบดอกของดอกนั้นจะเหี่ยวลงในตอนเย็นของวันเดียวกัน ในระยะออกดอกถ้ามีฝนอัตราการผสมติดจนมีเมล็ดจะต่ำมาก
©ข้อมูลจาก®
พืชไร่เศรษฐกิจ. ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์